ไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน(1)

ไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน

ชื่อวิทยาศาสตร์: Phuwiangosaurus sirindhornae, Martin, Buffetaut and Suteethorn, 1994

นิรุกติศาสตร์:

  1. Phuwiangosaurus คำนี้เป็นชื่อ “สกุล” (Genus) ทางวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้ โดยมีหลักการตั้งชื่อดังนี้ คือ คำว่า Phuwiangosaurus เป็นการสนธิคำระหว่างคำว่า “ภูเวียง” คือ สถานที่ที่พบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้ กับคำว่า “Saurus” ซึ่งเป็นภาษาละติน ที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณคำว่า “sauros” แปลว่ากิ้งก่า หรือ ตะกวด ดังนั้น ชื่อนี้จึงแปลได้ว่า “กิ้งก่าแห่งภูเวียง”
  2. sirindhornae คำนี้เป็นชื่อ “ชนิด” (Species) ทางวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้ ซึ่งเป็นพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน ที่ทรงสนพระทัยติดตามการค้นพบทางโบราณชีววิทยาในประเทศไทย ด้วยการแปลงพระนาม “สิรินธร” เป็นรูปภาษาอังกฤษคือ “Sirindhorn” จากนั้น ตามหลักการตั้งชื่อ “ชนิด” ว่า ในกรณีที่ชื่อที่จะตั้งเพื่อเป็นเกียรตินั้น เป็นชื่อผู้หญิง ให้เติม “ae” ที่ท้ายคำ ดังนั้น จึงได้คำว่า “sirindhornae”

การค้นพบไดโนเสาร์ในประเทศไทย:
เรื่องราวการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ของไดโนเสาร์ในประเทศไทย มีที่มาจากโครงการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียมของกรมทรัพยากรธรณี ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยนายสุธรรม แย้มนิยม ได้ขุดค้นพบซากไดโนเสาร์ชิ้นแรก ที่บริเวณห้วยแห้งเล็กๆ ชื่อห้วยประตูตีหมา ในอำเภอภูเวียง เป็นซากดึกบรรพ์ของกระดูกท่อนขาสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 1 ฟุต เมื่อนำไปเทียบกับกระดูกไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ พบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ในกลุ่มที่เรียกว่า ซอโรพอด(2) ซึ่งได้แก่ไดโนเสาร์คัมมาราซอรัส (Camarasaurus)(3) ที่มีอายุอยู่ในช่วงยุคจูราสสิค(4) ตอนปลาย ถึงยุคครีเตเชียส(5) ตอนต้น (Late Jurassic - Early Cretaceous Period) เมื่อประมาณ 150 - 130 ล้านปีมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาถึงรายละเอียดแล้ว พบว่า ซากดึกดำบรรพ์ที่พบที่ภูเวียงนี้ มีข้อแตกต่างกันหลายจุด และยังพบอีกว่า คล้ายคลึงกับไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด ที่พบในประเทศจีนมากกว่า แต่ก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว

การค้นพบครั้งนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักโบราณชีววิทยา (Paleontologist) ชาวฝรั่งเศส จึงได้เริ่มมีโครงการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2523 โดยจัดตั้งโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส เป็นคณะสำรวจทางโบราณชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส มีภารกิจในการร่วมมือกันดำเนินการสำรวจ ศึกษาวิจัย และขุดค้นหาซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา

ในปี พ.ศ. 2524 นักธรณีวิทยาจากหน่วยสำรวจแร่ยูเรเนียม ได้พาคณะสำรวจทางโบราณชีววิทยาดังกล่าว ขึ้นไปยังจุดที่พบกระดูกไดโนเสาร์อีกแห่งหนึ่งบนยอดภูประตูตีหมา ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 422 เมตร ใกล้ๆ ยอดเขานั้น คณะสำรวจพบกระดูกขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่ง ฝังอยู่ในชั้นหินดินดานตื้นๆ หินยังไม่แข็งตัวนัก ทำให้ขุดได้ง่าย และได้ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์สภาพดี เป็นกระดูกไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด จำนวน 2 ท่อน

การค้นพบร่องรอยใหม่ๆ ของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดที่ภูเวียงในครั้งนั้น ได้นำไปสู่การศึกษาในรายละเอียด ภายใต้ความร่วมมือระหว่างฝ่ายไทยกับฝรั่งเศส จนพบว่าซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ชุดนี้ เป็นของไดโนเสาร์ชนิดใหม่ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากที่เคยพบมาในส่วนอื่นๆ ของโลก การค้นพบครั้งนี้ เป็นรายงานการค้นพบไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และจากการสำรวจของคณะสำรวจฯ ได้ขุดพบกระดูกของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดอีกหลายแห่ง และมีจำนวนมากพอที่จะทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด

คณะสำรวจ ฯ จึงได้ทำการคัดเลือกนักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส มาทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อเรื่อง “ไดโนเสาร์ซอโรพอด ยุคครีเตเชียสตอนต้นของประเทศไทย” โดยมี ดร. วาเลรี มาร์แตง ดร. เอริค บุฟเฟอโตต์ และนายวราวุธ สุธีธร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา รายงานการศึกษาวิจัยเสร็จสิ้นและนำเสนอได้ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยมีข้อสรุปว่า ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดดังกล่าว ที่ขุดพบในประเทศไทยเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่ของโลก คณะสำรวจ ฯ นำโดย ดร. วาเลรี มาร์แตง ในนามของมหาวิทยาลัยปารีส จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จ-พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขออัญเชิญพระนามาภิไธยของพระองค์เป็นชื่อไดโนเสาร์ชนิดใหม่ล่าสุดของโลกนี้ และได้รับพระราชทานพระราชานุญาต เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2537 ฉะนั้น ไดโนเสาร์นี้จึงได้ชื่อว่า Phuwiangosaurus sirindhornae รายงานการวิจัยฉบับนี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศส >Comptes Rendus de l’Acad?mie des Sciences, T 319 Serie II sohk 1085 – 1092 เมื่อปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ.๒๕๓๗)

ยุคสมัยและลักษณะ:
ไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน มีอายุอยู่ในช่วงยุคครีเตเชียสตอนต้น (130 ล้านปีมาแล้ว) จัดเป็นไดโนเสาร์ที่อยู่ในกลุ่มซอโรพอด (Sauropod) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ เป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่โตมาก มีคอและหางยาว ลำตัวมีความยาวประมาณ 15 - 20 เมตร เดิน 4 เท้า กินพืชเป็นอาหาร แต่เดิมนั้น นักโบราณชีววิทยาเคยเชื่อว่า พวกซอโรพอด หรือ ไดโนเสาร์คอยาวนี้ นิยมใช้เวลาส่วนใหญ่ของมันในน้ำ และอาศัยน้ำช่วยพยุงน้ำหนักอันมหาศาลของลำตัว โผล่แต่ส่วนหัวขึ้นมาสอดส่องดูโลกภายนอก แต่เมื่อประมาณ 10 ปีมานี้ ได้มีการศึกษาเรียนรู้ความมหัศจรรย์ทางโครงสร้างลำตัวของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด จนทราบว่า ท่อนขาหลังที่ดูบอบบางของพวกมัน ถูกออกแบบมาให้แบกรับน้ำหนักอันมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรอยเท้าที่กลายเป็นหินของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดยังชี้ให้เห็นว่า ไดโนเสาร์กลุ่มนี้เป็นสัตว์บกอย่างเต็มตัว ในประเทศไทยปัจจุบันพบว่า นอกจากจะพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นแล้ว ก็ยังพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้ที่จังหวัดกาฬสินธุ์อีกด้วย

[ตรวจแก้ไขข้อมูลโดย นายตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)]

บรรณานุกรม

  • “การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์”, ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพฯ: โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, หอรัษฎากรพิพัฒน์, 2540), หน้า 22 - 25.
  • วราวุธ สุธีธร, “ความฝันของนักขุดไดโนเสาร์ไทย”, สารคดี ปีที่ 13 ฉบับที่ 149 (กรกฎาคม 2540): 89 - 95.
  • วราวุธ สุธีธร, “ไดโนเสาร์ในประเทศไทย”, สารคดี ปีที่ 13 ฉบับที่ 149 (กรกฎาคม 2540): 96 - 100.
  • เดวิท แลมเบิร์ต และ เดอะไดอาแกรมกรุ๊ป, รวมข้อมูลไดโนเสาร์ ฉบับสมบูรณ์, พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพฯ: สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, 2536), หน้า 47, 129, 163.
  • “Sauropoda”, in Webster’s new twentieth century dictionary unabridged, 2nd, (New York, Library Guild, Inc., 1965), p. 1612.
  • http://www.lib.ru.ac.th/journal/longlive.html (เว็บไซต์ของสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง) (สืบค้น 24 กันยายน 2546)
  • http://www.dinodata.net/Dd/Namelist/Tabp/P078.htm (สืบค้น 24 กันยายน 2546)
  1. ชื่อ Phuwiangosaurus sirindhornae ถ้าอ่านตามภาษาละตินต้องอ่านเป็น ฟูเวียงโกเซารุส สิรินธอร์นาย ถ้าอ่านตามภาษาอังกฤษและตามกฎการอ่านชื่อวิทยาศาสตร์ ต้องอ่านเป็น ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรนี ถ้าอ่านตามภาษาฝรั่งเศส ต้องอ่านเป็น ฟูเวียงโกโซรุส สิรินธอรเน ดังนั้นการที่อ่าน สิรินธรเน เข้าใจว่า คำว่า เน คงอ่านตามแบบภาษาฝรั่งเศส เพราะ คำว่า nae ถ้าอ่านแบบภาษาละตินต้องอ่าน นาย หรือ ไน อ่านแบบสากลคือภาษาอังกฤษต้องอ่านเป็น นี
  2. ชื่อ Phuwiangosaurus sirindhornae ถ้าอ่านตามภาษาละตินต้องอ่านเป็น ฟูเวียงโกเซารุส สิรินธอร์นาย ถ้าอ่านตามภาษาอังกฤษและตามกฎการอ่านชื่อวิทยาศาสตร์ ต้องอ่านเป็น ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรนี ถ้าอ่านตามภาษาฝรั่งเศส ต้องอ่านเป็น ฟูเวียงโกโซรุส สิรินธอรเน ดังนั้นการที่อ่าน สิรินธรเน เข้าใจว่า คำว่า เน คงอ่านตามแบบภาษาฝรั่งเศส เพราะ คำว่า nae ถ้าอ่านแบบภาษาละตินต้องอ่านนาย หรือ ไน อ่านแบบสากลคือภาษาอังกฤษต้องอ่านเป็น นี
  3. ซอโรพอด (Sauropod) เป็นชื่อเรียกไดโนเสาร์กลุ่มกินพืช ที่มีรูปร่างใหญ่โต มีคอยาว หางยาว และหัวเล็ก ชื่อภาษาอังกฤษนี้มาจากชื่อภาษากรีก-ละติน ของอันดับแยกย่อย (sub-order) ของไดโนเสาร์กลุ่มนี้เรียกกันว่า ซอโรพอดา (Sauropoda) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า Sauros แปลว่า กิ้งก่า กับ คำว่า podos แปลว่า เท้า)
  4. คัมมาราซอรัส (Camarasaurus) เป็นไดโนเสาร์ที่จัดอยู่ในวงศ์คัมมาราซอริดี (Camarasauridae) ไดโนเสาร์ในวงศ์นี้เป็นนักกินพืชที่มีขนาดใหญ่โตมาก มี 4 ขา คอ และหางยาว มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายยุคจูราสสิค ถึงปลายยุคครีเตเชียส ถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป อาฟริกา และเอเชีย
  5. ยุคจูราสสิค (Jurassic) มีอายุราว 213 - 144 ล้านปีมาแล้ว เป็นช่วงกลางยุคของไดโนเสาร์ ชื่อจูราสสิค ได้มาจากชื่อของเทือกเขาจูรา ที่อยู่ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ ในยุคนี้เป็นยุคที่ไดโนเสาร์พวกซอโรพอด ซึ่งเป็นสัตว์กินพืชที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เข้ามาแทนที่พวกโปรซอโรพอด
  6. ยุคครีเตเชียส (Creteceous) อายุราว 144 - 65 ล้านปีมาแล้ว เป็นยุคสุดท้าย และยาวนานที่สุดของยุคไดโนเสาร์ ชื่อของยุคนี้มาจากภาษาละตินว่า คริเต (หินชอล์ก) เพราะชั้นหินที่พบซากดึกดำบรรพ์นั้นเป็นชั้นหินที่ปนหินชอล์กที่พอกพูนขึ้นในยุคครี-เตเชียส