พระราชประวัติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการศึกษา


                    ความใฝ่พระราชหฤทัยในการเรียนรู้ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เด็กทั่ว ๆ ไปมีบิดามารดาเป็นครูคนแรกฉันใด พระองค์ท่านก็เช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปรียบเสมือนปฐมาจารย์ของพระองค์ ทรงซึมซับพระนิสัยใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาจากพระราชบิดาและพระราชมารดา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงพัฒนาท้องที่ใดก็ตาม จะทรงศึกษาลักษณะพื้นที่และสภาพแวดล้อมของที่นั้น ๆ ก่อนเสมอ ทรงปลูกฝังเรื่องความรักธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ทรงสอนให้รู้จักวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ

                    ในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานโดยทางรถยนต์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงมีพระชนมายุประมาณ 7-8 พรรษา และได้โดยเสด็จในรถด้วย ทรงสอนให้พระราชโอรสและพระราชธิดารู้จักวิธีการคำนวณเวลาจากระยะทางและความเร็ว สภาพภูมิประเทศที่เห็น ถ้าเป็นเวลากลางคืนก็จะทรงสอนให้รู้จักดาวต่าง ๆ ในท้องฟ้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงได้รับการปลูกฝังพระนิสัยช่างสังเกตให้รู้จักสนพระทัยใฝ่เรียนรู้จากสิ่งรอบด้านที่ได้พบเห็น ไม่เพียงความรู้จากในตำรา

                    สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถทรงปลูกฝังให้พระราชโอรสพระราชธิดาทรงรักการอ่านหนังสือตั้งแต่พระชนมายุเพียง 6-7 พรรษา ทรงใช้วิธีหัดให้ทรงอ่านหนังสือวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น พระอภัยมณี อิเหนา รามเกียรติ์ เป็นต้น จนทรงท่องจำบทกลอนในวรรณคดีเหล่านี้ได้หลายบท นอกจากนี้ยังทรงซื้อหนังสืออื่น ๆ มาทรงอ่าน แล้วทรงเล่าพระราชทานพระราชโอรสพระราชธิดา เป็นต้นว่าหนังสือนิทานสำหรับเด็ก หนังสือประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ พุทธศาสนา เรื่องเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมทั้งของไทยและต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ ทรงสนับสนุนการจัดทำห้องสมุด สะสมหนังสือ โปรดให้เสด็จไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ ด้านการศึกษาเล่าเรียนทรงจัดหาครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมาถวายพระอักษรวิชาต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงมีพื้นความรู้ทางวิชาการด้านอักษรศาสตร์ดีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชันษา นอกจากจะทรงศึกษาในชั้นเรียนตามปรกติแล้ว ยังทรงปรึกษาซักถามขอคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิอยู่เสมอ ทั้งยังทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองด้วย เมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานที่หรือประเทศใด ก็จะทรงศึกษาประวัติความเป็นมา ชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของที่นั้น ๆ ก่อน ทั้งจากตำรับตำราและจากผู้เชี่ยวชาญ

                   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พุทธศักราช 2501 ขณะมีพระชนมายุ 3 พรรษา ทรงมีพระสหายร่วมชั้นเรียน 20 คน เป็นโอรสธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ และบุตรหลานข้าราชการ ตลอดจนมหาดเล็ก ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มาร่วมเรียนด้วยโดยปราศจากชั้นวรรณะ วิชาที่ทรงเรียนในชั้นอนุบาลนี้ คือ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เลขคณิตและขับร้อง พระอาจารย์ที่ถวายพระอักษรขณะนั้น ได้แก่ อาจารย์ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ อาจารย์ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ และอาจารย์ท่านผู้หญิงสุนามัน ประนิช ทั้งนี้ ปรากฎว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดโรงเรียน พระอาจารย์ และพระสหาย เป็นอันดี

                   เมื่อทรงเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ได้ทรงสอบร่วมกับนักเรียนทั่วประเทศ โดยใช้ข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบได้ที่หนึ่ง ได้คะแนนรวมร้อยละ 96.60 อันนับว่าเป็นคะแนนสูงสุดสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่เจ็ด จึงทรงได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 31 ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2511

                   ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นี้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาแทบทุกด้าน เช่น ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รำไทย ดนตรีไทย และวาดเขียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังโปรดการอ่านหนังสือและการทรงพระอักษรมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงพระปรีชาสามารถในการประพันธ์ร้อยแก้วและร้อยกรอง ทรงเริ่มบทพระนิพนธ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อ พระชนมายุ 12 พรรษา ต่อมา บทพระนิพนธ์เหล่านี้ ได้รับการตีพิมพ์แพร่หลายในหนังสือหลายเล่ม ตัวอย่างเช่น เรื่อง “อยุธยา” “เจ้าครอกวัดโพธิ์” “ศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร” เป็นต้น บทพระนิพนธ์ที่รู้จักกันดีคือ “พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง” ซึ่งทรงถอดมาจากภาษาบาลี และ “กษัตริยานุสรณ์” ซึ่งทรงพระนิพนธ์เพื่อทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช 2516

                   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทรงสอบไล่ได้เป็นที่หนึ่งของประเทศแผนกศิลปะ ประจำปีการศึกษา 2515 ได้คะแนนรวมร้อยละ 89.30 หลังจากนั้น ทรงสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ทรงเลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอันดับที่หนึ่ง ผลการสอบปรากฏว่าทรงได้ที่ 4 เมื่อทรงเข้าศึกษาเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงเลือกเรียนวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก วิชาภาษาไทยและวิชาภาษาบาลี - สันสกฤตเป็นวิชาโท ทรงได้รับรางวัลคะแนนยอดเยี่ยมในวิชาต่าง ๆ อยู่เสมอ อาทิ รางวัลคะแนนยอดเยี่ยมวิชาภาษาฝรั่งเศส และวิชาภาษาไทย

                   นอกจากพระราชภารกิจในฐานะสมเด็จพระเจ้าลูกเธอแล้ว ยังต้องทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระองค์เองในฐานะสมเด็จเจ้าฟ้า ตลอดจนทรงรับผิดชอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ แทนพระองค์ตามที่ทรงได้รับมอบหมาย ทรงสามารถปฏิบัติได้อย่างดี จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปทรงร่วมงานพระราชพิธีในต่างประเทศ โดยการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงร่วมพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟ ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2516 ขณะมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา

                   กิจกรรมอื่น ๆ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเข้าร่วม คือ ทรงสมัครเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย และชมรมวรรณศิลป์ ของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประชาชนทั่วไปมักจะได้เห็นภาพที่ทรงดนตรีไทยในโอกาสต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยอยู่เนือง ๆ โดยโปรดทรงซอด้วงเป็นพิเศษ แม้ว่าจะทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิดก็ตาม ส่วนทางด้านกิจกรรมของชมรมวรรณศิลป์นั้น เคยทรงร่วมกับพระสหายอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้แทนของคณะอักษรศาสตร์ แข่งขันกลอนสดระหว่างคณะในมหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้ว ก่อนการแข่งขันนั้นต้องทรงสละเวลาในชั่วโมงที่ว่างเรียนมาทรงซ้อมกลอน และทรงแสดงความเป็นปฏิภาณกวีให้บรรดาพระสหายเห็นเป็นที่ประจักษ์ในการซ้อมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากที่ทรงสนพระทัยในวรรณกรรมต่าง ๆ มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

                   นอกจากกิจกรรมของทางสโมสรนิสิตจุฬา ฯ แล้วยังทรงเป็นสมาชิกชมรมภาษาไทย ชมรมภาษาตะวันออก และชมรมประวัติศาสตร์ในคณะอักษรศาสตร์ ทั้งยังทรงเป็นกองบรรณาธิการวารสาร "อักษรศาสตร์พิจารณ์" ของชุมนุมวิชาการคณะอักษรศาสตร์อีกด้วย ในบางครั้งก็พระราชทานบทพระราชนิพนธ์หลายเรื่องลงพิมพ์ในวารสารดังกล่าว เช่นเรื่อง "การเดินทางไปร่วมพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟ แห่งประเทศสวีเดน" และร้อยกรองต่าง ๆ

                   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับฉายาว่าเป็น "หนอนหนังสือ" นอกจากจะสนพระทัยในการอ่านหนังสืออย่างจริงจังแล้ว ยังทรงเป็นนักสะสมหนังสือด้วย หนังสือที่มีคุณค่าบางเล่ม ซึ่งไม่ทรงมีแต่พระสหายมี ก็จะทรงยืมหนังสือเหล่านั้นจากพระสหายไปอ่าน เพื่อมิให้พลาดหนังสือเล่มนั้นไป การอ่านหนังสือเป็นจำนวนมากทำให้ทรงรอบรู้วิชาการต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาไทย และภาษาตะวันออกเป็นอย่างดี

                   สิ่งสนับสนุนการศึกษาประการหนึ่ง ก็คือพระพลานามัยอันสมบูรณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดกีฬา และการออกกำลังกายต่าง ๆ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น หากมีการแข่งขันกีฬาก็จะทรงเข้าร่วมด้วยอย่างเต็มพระทัย เคยทรงร่วมการแข่งขันฟุตบอลในคณะอักษรศาสตร์ และทรงร่วมทีมนิสิตน้องใหม่ชักเย่อกับทีมอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ทรงปฏิบัติด้วยความร่าเริงแจ่มใส เป็นที่ประทับใจแก่บรรดาพระสหายรุ่นพี่และรุ่นน้องอย่างยิ่ง

                    ในพุทธศักราช 2520 (ปีการศึกษา 2519) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และทรงได้รับพระราชทานรางวัลเหรียญทอง โดยทรงสอบได้คะแนนสูงสุดในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ และยังทรงสอบได้เป็นที่ 1 ของชั้นด้วย

                    หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศิลปากรพร้อมกันสองแห่ง ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก) ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2522 และปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาบาลี-สันสกฤต) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 จากนั้นได้ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2524 ทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนยอดเยี่ยมอันดับหนึ่ง ได้รับพระราชทานปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต ในเดือนตุลาคม 2529 ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

                    นอกเหนือจากความรู้ที่ทรงได้รับจากหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ยังทรงใฝ่พระราชหฤทัยศึกษาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับวิทยาการแขนงอื่น ๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อทรงนำไปใช้ประกอบพระราชวิจารณญาณในการช่วยเหลือราษฎรตามรอยพระยุคลบาท และเพื่อทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงศึกษาเพิ่มพูนความรู้ทั้งด้านทรัพยากร การชลประทาน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยทรงเข้าร่วมการอบรมฝึกภาคสนาม การประชุม สัมมนา และการศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก เช่น ด้านการสำรวจและแผนที่ การฝึกปฏิบัติด้านคอมพิวเตอร์ ด้านภาพถ่ายจากดาวเทียม โภชนาการ ภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ ได้ทรงใช้วิชาการเหล่านี้ในเชิงบูรณาการให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติตลอดมา

พระราชประวัติการศึกษา

ระดับ/ชั้น/คณะ สถาบันการศึกษา วันเดือนปี/ปีการศึกษา หมายเหตุ
ระดับอนุบาล
อนุบาล 1-2
โรงเรียนจิตรลดา 2 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (วันเริ่มต้นการศึกษา)
ระดับประถมศึกษา
ประถมศึกษาปีที่ 1-7
โรงเรียนจิตรลดา ปีการศึกษา 2503-2509 ทรงสอบวัดผลระดับประโยคประถมศึกษาตอนปลาย (ข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการ) ได้ลำดับที่ 1 ของประเทศ คะแนนรวมร้อยละ 96.60
ระดับมัธยมศึกษา
มัธยมศึกษาตอนต้น
- ตอนปลาย (ม.ศ.1-5)
โรงเรียนจิตรลดา ปีการศึกษา 2510-2515 ทรงสอบวัดผลระดับประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกศิลปะ (ข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการ) ได้ลำดับที่ 1 ของประเทศ คะแนนรวมร้อยละ 89.30
ระดับอุดมศึกษา
คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2516-2519 ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญา อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) เหรียญทอง คะแนนเฉลี่ย 3.98 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2520
ระดับบัณฑิตศึกษา
บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา ๒๕๒๐ - ๒๕๒๒ ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ ๒๕๒๒ หัวข้อวิทยานิพนธ์ "จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง"
ระดับบัณฑิตศึกษา
บัณฑิตวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2520-2522 ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ 2522 หัวข้อวิทยานิพนธ์ "จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง"
ระดับดุษฎีบัณฑิต
บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีการศึกษา 2524-2528 ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญา การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ 2529 หัวข้อวิทยานิพนธ์ "การพัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอนภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย"