งานอดิเรก


                    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด ทั้งการทรงงานของพระองค์เอง และการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ทรงได้รับมอบหมายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แม้จะมีพระราชภารกิจค่อนข้างมาก ยามที่ทรงว่างหรือภายหลังการทรงงาน ทรงพักพระอิริยาบถด้วยการทรงงานอดิเรกที่โปรด ซึ่งมีอยู่หลากหลายประเภท

                    การออกกำลังกายและเล่นกีฬา เป็นงานอดิเรกที่ทรงให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ ด้วยเป็นการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยวิธีธรรมชาติและเรียบง่าย ทรงมีพระวินัยในการออกกำลังพระวรกายอยู่เสมอ โดยปกติในแต่ละวัน โปรดการทรงพระดำเนินเร็วรอบ ๆ พระตำหนักที่ประทับในเวลาเช้าและเย็น แม้จะเสด็จ ฯ ไปทรงงานในพื้นที่ใด ก็จะทรงพระดำเนินเพื่อออกกำลังพระวรกายเช่นกัน บางครั้ง ยังเป็นโอกาสที่จะได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศและวิถีชีวิตชุมชนได้อีกด้วย ยามที่เสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศ ก็โปรดที่จะทรงพระดำเนินเพื่อทอดพระเนตรบ้านเมืองหรือทัศนียภาพของธรรมชาติ สำหรับกีฬาอื่น ๆ ที่ทรงบ้างในบางโอกาส เช่น กีฬาว่ายน้ำ ขี่จักรยาน พายเรือ แอโรบิก เป็นต้น

                    ดนตรี และนาฏศิลป์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงคุ้นเคยกับเสียงดนตรีมาแต่ทรงพระเยาว์ ต่อมา เมื่อเจริญพระชันษาขึ้น เป็นช่วงเวลาที่เพลงลูกทุ่งกำลังได้รับความนิยม ทรงเห็นว่าเพลงลูกทุ่งมีท่วงทำนองสนุกสนาน ทั้งยังแสดงถึงชีวิต และอารมณ์ของคนไทยได้เป็นอย่างดี จึงโปรดเพลงประเภทลูกทุ่งมาก ในช่วงเวลาที่ทรงศึกษา ณ โรงเรียนจิตรลดา ทรงเริ่มเรียนดนตรีไทยครั้งแรกคือซอด้วง และทรงหัดเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่นด้วย ได้แก่ ระนาด ซออู้ จะเข้ จากนั้นก็ทรงดนตรีไทยมาโดยตลอด ทุกวันนี้ เมื่อทรงมีเวลาว่าง จะทรงดนตรีไทย รวมทั้งการขับร้องเพลงไทย และการฝึกนาฏศิลป์ไทยด้วย นอกจากนี้ ยังโปรดการฟังเพลงทั้งเพลงไทยเดิม เพลงลูกทุ่งและเพลงไทยสากล

                    การทรงพระอักษร หรือ การอ่านหนังสือ การเขียนหนังสือ เป็นพระจริยวัตรที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปฏิบัติมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการปลูกฝังพระอุปนิสัยรักการอ่านจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ หนังสือที่โปรดมีหลากหลายประเภท มีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ด้วยทรงเห็นว่าหนังสือเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่มีคุณค่า การเสด็จ ฯ ไปยังร้านหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทอดพระเนตรหนังสือใหม่ ๆ ตามพระราชอัธยาศัย รวมทั้งการทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายหนังสือจากประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ มักจะเป็นภาพที่ประชาชนทั่วไปได้พบเห็นอยู่เสมอ สนพระทัยกิจกรรมห้องสมุด เป็นพิเศษ ทรงจัดตั้งห้องสมุดส่วนพระองค์ เพื่อเก็บสะสมหนังสือ สิ่งตีพิมพ์และวารสาร รวมทั้งแผนที่ สื่อโสตทัศนวัสดุประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังสนพระทัยในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากสื่อดิจิตอลสมัยใหม่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซีดีรอม และฐานข้อมูลวิชาการต่าง ๆ

                    จากพื้นฐานการเป็นนักอ่าน นำไปสู่การเป็น "นักเขียน" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีสนพระทัยในการประพันธ์ ทรงพระราชนิพนธ์ได้ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ทรงเริ่มหัดแต่งโคลงกลอนมาตั้งแต่ยังทรงศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนจิตรลดา บทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองหลายบท เป็นที่มาของบทเพลงหลายเพลง เพลงแรกที่ทรงแต่งเป็นเพลงลูกทุ่ง ชื่อเพลง "ส้มตำ" ต่อมา ด้วยความสนพระทัยในดนตรี จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนเพื่อเป็นคำร้องสำหรับทำนองเพลงไทยเดิม รวมทั้งทำนองเพลงสากลด้วย

                    สำหรับร้อยแก้ว ทรงเริ่มจากเรียงความ สารคดี บทความสั้น ๆ ตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาเช่นกัน ปัจจุบัน แม้จะมีพระราชภารกิจมาก แต่ก็โปรดที่จะทรงพระราชนิพนธ์บทความ เรื่องสั้น เรื่องแปล และสารคดีต่าง ๆ เท่าที่จะทรงมีเวลา พระราชนิพนธ์ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคือ บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ที่ทรงเล่าประสบการณ์ ความรู้ ข้อคิดและสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากนานาประเทศ ทำให้ผู้อ่านได้ทราบเรื่องราวประหนึ่งว่าได้ตามเสด็จไปด้วย อีกทั้งยังได้ความรู้รอบตัวในวิชาการหลากหลายสาขา

                    งานอดิเรกอีกประเภทหนึ่งที่โปรด คือ งานศิลปะ ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะประเภทจิตรกรรมไว้เป็นจำนวนมาก ภาพวาดฝีพระหัตถ์มีทั้งภาพสีเทียน สีน้ำ สีน้ำมัน หมึกจีน ภาพการ์ตูนลายเส้น ภาพที่ทรงวาด ทรงได้แรงบันดาลใจจากบทกวีนิพนธ์โบราณบ้าง จากการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ บ้าง และยังมีภาพที่ทรงวาดจากจินตนาการของพระองค์เองอีกมาก นอกจากนี้ยังมีงานศิลปะประเภทเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีทั้งงานปั้นตุ๊กตาหลากหลายรูปทรงและงานเทคนิคการเขียนสีใต้เคลือบ รวมทั้งการวาดภาพลงบนเครื่องปั้นดินเผา

                    จากการที่ทรงมีพระราชกิจเสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศอยู่เสมอ ๆ มีทั้งการเสด็จ ฯ อย่างเป็นทางการ และตามที่ทรงได้รับคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลหรือหน่วยงานในต่างประเทศ เมื่อทรงว่างจากพระราชกิจ เสด็จ ฯ ไปทรงทัศนศึกษา ณ สถานที่ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ โบราณสถาน หรือศูนย์ข้อมูลความรู้ เป็นต้น รวมทั้งเสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตร "ตลาดท้องถิ่น" อันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชน สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรในแต่ละประเทศ

                    ทรงเห็นว่าความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก โปรดที่จะทรงจดบันทึกรายละเอียดของสิ่งที่ทรงพบเห็นมาไว้ในสมุดจดบันทึกที่ทรงถือติดพระหัตถ์อยู่เสมอ และเมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยแล้ว ก็จะทรงนำบันทึกจากการเดินทางเหล่านั้นมาทรงเรียบเรียง และจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นความรู้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยต่อไป

                    การถ่ายภาพ ก็เป็นงานอดิเรกอีกประเภทหนึ่งที่โปรดเช่นกัน ทุกครั้งที่เสด็จ ฯ ไปยังสถานที่ต่างๆ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจะทรงนำกล้องถ่ายภาพดิจิตอลส่วนพระองค์ไปด้วย เพื่อทรงบันทึกภาพที่ทอดพระเนตรในมุมกล้องที่แตกต่างและหลากหลาย แม้จะทรงเป็น "ช่างภาพสมัครเล่น" แต่ก็ทรงใส่พระทัยในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทรงเห็นว่าน่าสนใจ และทรงเก็บบันทึกภาพทั้งหมดไว้เป็นแกลเลอรีภาพในเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์บางส่วน ได้พระราชทานให้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์หลายครั้ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐอินเดีย

                    งานอดิเรกที่ทรงสนพระทัยอีกอย่างหนึ่งคือ การประกอบพระกระยาหาร ซึ่งมีทั้งที่ทรงคิดตำรับอาหารเอง และทรงประยุกต์จากสูตรอาหารที่มีอยู่แล้ว มีทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง ส่วนใหญ่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้ทรงจดสูตรอาหารและวิธีทำไว้ทุกครั้ง และได้พระราชทานสูตรอาหารให้ผู้สนใจหรือหน่วยงานต่าง ๆ นำไปเผยแพร่เพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป ตำราอาหารพระราชทานที่ได้มีการตีพิมพ์มีหลายเล่ม เช่น "ครัวสระปทุม" และ "ไทยทำ ไทยกิน กับข้าวฝรั่ง" เป็นต้น

                    การสะสมก็เป็นงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งที่ทรงสนพระทัย คุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ "เทพรัตน ธ เกริกฟ้า ทั่วหล้าสรรเสริญ" ความตอนหนึ่งว่า

                    "ใครจะทราบบ้างว่า ทูลกระหม่อมทรงเป็นนักสะสม พระองค์ไม่ได้ทรงสะสมของมีค่าราคาแพง แต่ทรงสะสมของที่มีคุณค่าราคาไม่แพง บางสิ่งแปลก บางสิ่งหายาก ส่วนใหญ่ได้จากการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่และเมืองต่าง ๆ การเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศทุกครั้ง จะต้องทรงส่งไปรษณียบัตร (Post Card) ถึงพระองค์เอง จากเมืองที่เสด็จ ฯ ไปทุกเมือง"

                    ที่สำคัญไปรษณียบัตรที่ส่งนั้นจะต้องประทับตราไปรษณียากรของเมืองที่เสด็จ ฯ ไป ทรงสะสมไปรษณียบัตรเหล่านี้ไว้มากมาย หลายครั้งที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยขอพระราชทานพระราชานุญาตนำไปจัดนิทรรศการ และทรงได้รับยกย่องจากวงการตราไปรษณียากรทั่วโลกว่าทรงมีพระอัจฉริยภาพเฉพาะพระองค์เกี่ยวกับเรื่องการสะสมตราไปรษณียากรอย่างยิ่ง ทั้งยังได้มีการขอพระราชทานพระราชานุญาตนำสิ่งสะสมส่วนพระองค์ เช่น ไปรษณียบัตร และตราไปรษณียากร ไปจัดแสดงในหลายประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสาธารณรัฐอินเดีย

                    นอกจากการสะสมไปรษณียบัตรแล้ว เมื่อเสด็จ ฯ ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ จะทรงเก็บหินแปลก ๆ สวย ๆ (หากเจ้าของสถานที่อนุญาต) กลับมา แล้วนำส่งกรมทรัพยากรธรณี เพื่อตรวจดูว่าเป็นหินชนิดใด เพื่อจะได้ทรงทราบว่าสถานที่ที่เสด็จ ฯ ไปนั้น มีหินชนิดใดบ้าง สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศอย่างไร ซึ่งเป็นการศึกษาวิชาทรัพยากรธรณีไปพร้อมกัน และหินที่เก็บมานี้ก็จะเก็บรวบรวมอยู่ในพิพิธภัณฑ์หินส่วนพระองค์

                    นอกจากนี้ ยังทรงสะสมสิ่งละอันพันละน้อยอีกหลายชนิดที่บางอย่างเราอาจจะนึกไม่ถึง เช่น ทรงสะสมปากกาที่ทรงใช้แล้ว ดังเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่า ทูลกระหม่อมทรงเป็นนักจดบันทึก ไม่ว่าจะเสด็จ ฯ ไปยังสถานที่ใด จะต้องทรงจดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ทรงพบเห็น สิ่งสำคัญที่จะต้องติดพระองค์อยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสมุดกับปากกา สมุดจด และปากกาทุกด้าม จะทรงใช้อย่างมีระเบียบ และใช้จนหมดจึงจะขึ้นสมุดเล่มใหม่และปากกาด้ามใหม่ ไม่น่าเชื่อว่าปากกาที่ทรงใช้จนหมึกหมดที่ทรงสะสมไว้มีจำนวนหลายร้อยด้าม จนสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ และได้ออกแสดงในนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์

                    นอกจากจะทรงสะสมของเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ด้วยพระองค์แล้ว ยังทรงสนับสนุนเด็ก ๆ ซึ่งเป็นลูกพระสหายและข้าราชบริพารที่ชอบสะสมสิ่งต่างๆ เช่น ทรงทราบว่ามีลูกพระสหายคนหนึ่งชอบสะสมกระป๋องโค้กแบบต่าง ๆ จากหลาย ๆ ประเทศ ทุกครั้งที่เสด็จ ฯ ต่างประเทศก็จะทรงหาโค้กกระป๋องของประเทศนั้น ๆ มาพระราชทาน จนสามารถจัดแสดงนิทรรศการกระป๋องโค้กได้เช่นกัน

                    ทุกครั้งที่เสด็จ ฯ ไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จะมีผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายสิ่งของมากมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกประเภทและจัดหมวดหมู่ของเหล่านี้ไว้ส่วนหนึ่ง และแยกเป็นของที่มาจากแต่ละประเทศอีกส่วนหนึ่ง ของเหล่านี้จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ ในอนาคตของเหล่านี้ย่อมจะเป็นสิ่งสำคัญและมีคุณค่ายิ่งแก่อนุชนรุ่นหลัง"