งานศิลป์


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดการวาดรูป ปั้นรูปและงานประดิษฐ์ทางช่าง มาแต่ทรงพระเยาว์ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ คือ ภาพแจกันดอกไม้สีม่วงตั้งอยู่ริมฝาผนังสีแดง และภาพต้นหางนกยูง ทรงเล่าถึงการวาดภาพแจกันดอกไม้สีม่วง ตั้งอยู่ริมฝาผนังสีแดง ว่าเกิดจากการทอดพระเนตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวาดภาพ จึงขอพระราชทานสี จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาทรงวาดภาพนี้ ส่วนภาพต้นหางนกยูง ที่ทรงวาดนั้น เพราะโปรดที่ต้นหางนกยูง ออกดอกสีส้ม สวยดี

แจกันสีม่วง ต้นหางนกยูง

ในชั้นอนุบาล ทรงเรียนการเขียนรูปด้วยสีเทียนจากครูสุนามัน ประนิช ต่อมาในชั้นประถมศึกษาตอนต้น ทรงเรียนวิชาศิลปศึกษากับครูเทรุโอ โยมูระ สัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง และทรงเรียนวิชาหัตถศึกษากับครูประพาส ปานพิพัฒน์ อีก ๒ ชั่วโมง ในชั้นนี้ ทรงเรียนวาดรูปด้วยสีเทียน สำหรับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จึงทรงใช้สีน้ำ ประเภทสีกวอช หรือ กูอาช (gouache) ส่วนครูประพาสสอนการปั้นดินและการเขียนลายรดน้ำ โดยเฉพาะการเขียนลายรดน้ำ ครูประพาสสอนอย่างเข้มงวดจริงจังจนทรงทำได้จริง ดังที่ทรงเขียนลายรดน้ำ รูปนางละคร เมื่อครั้งที่ทรงศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทรงส่งไปถวายพระเจ้าโบดวงพระราชาธิบดีแห่งประเทศเบลเยียม

ระหว่างที่ทรงศึกษาในโรงเรียนจิตรลดา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวาดรูปทั้งในชั้นเรียนและทรงวาดเล่น โดยทรงใช้ดินสอดำ ปากกาหมึกแห้ง และสีเมจิก โปรดการวาดภาพลายเส้นหรือภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ เพื่อความเพลิดเพลิน จากจินตนาการ หรือจากสิ่งรอบพระองค์ เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ เป็นต้น ทรงวาดได้รวดเร็วในทุกที่ทุกโอกาส กระดาษที่ทรงใช้วาด เป็นซองเอกสารบ้าง แผ่นกระดาษธรรมดา ในสมุดแบบฝึกหัด สมุดจดงาน สมุดบันทึก สมุดวาดเขียน และทรงวาดบนเครื่องเคลือบต่างๆ รวมทั้งทรงวาดภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ประกอบบทพระราชนิพนธ์ ทัวร์น้องโจ้ คืนฟ้าใส มุ่งไกลในรอยทราย เป็นต้น

ทรงเรียนวาดรูปเพิ่มเติมกับอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เกี่ยวกับการวาดภาพหุ่นนิ่ง อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ แนะนำวิธีการวาดภาพเมื่อครั้งตามเสด็จไปจังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ แนะนำเรื่องทฤษฎีภาพไทย และอาจารย์ภาวาส บุนนาค แนะนำเกี่ยวกับงานศิลปะต่างๆ

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ไม่ได้ทรงเรียนวาดเขียนอย่างจริงจังกับพระอาจารย์คนใด จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีโอกาสศึกษาวิชาศิลปะจาก หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ศิลปินเอกทางด้านสถาปัตยกรรมไทย ในวันไหว้ครูของ นักเรียนมูลนิธิศิลปาชีพ หลวงวิศาลศิลปกรรม กระทำพิธี “ครอบครูช่าง” ถวาย โดยจับพระหัตถ์ เขียนรูปพระวิษณุกรรมบนกระดานชนวน เพราะถือว่าครอบแล้ว มีสิทธิ์เป็นช่างเขียน ช่างปั้น และสอนผู้อื่นได้

ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์โปสเตอร์ ชื่อ วนาศรม หรือ ภาพศาลากลางป่า เป็นภาพแรกที่ทรงวาด เมื่อทรงเจริญพระชนมายุเป็นผู้ใหญ่แล้ว ภาพนี้ทรงวาดเพื่อเป็นลายปักผ้า เป็นภาพที่ทรงคิดว่าวาดยากที่สุด เพราะมีรายละเอียดต่างๆ มาก ทรงวาดค้างไว้ มาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๕ ทรงวาดภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์อย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ เนื่องจากทรงได้รับแรงบันดาลใจ จากการเรียนบทกวีจีนโบราณ กับพระอาจารย์จี้หนานเซิง ซึ่งกราบบังคมทูลแนะนำ และคุณบัญชา ล่ำซำ ทูลเกล้าฯ ถวายสีน้ำมัน ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์จากแรงบันดาลใจ ในบทกวีจีนโบราณทั้ง ๘ ภาพ เป็นภาพวาดที่ ทรงตีความตามบทกวี ทรงเน้นอารมณ์ และความรู้สึกด้วยสี และน้ำหนักที่ทรงรู้สึก เช่น ภาพแลจันทร์ ภาพชาวนา ภาพชุดบทกวีจีนโบราณ เป็นภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ที่ทรงพอพระทัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาพชาวนา ซึ่งทรงใช้สีแดงทั้งภาพและทรงอธิบายไว้ในทอสีเทียบฝัน หน้า ๒๔ ว่า “สีแดงเสนอความคิด แสดงความทุกข์ของชาวนาได้ดี”

ชาวนา วนาศรม

ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นภาพวิวทิวทัศน์ ป่าเขา แมกไม้ ดอกไม้ ทะเล และธารน้ำ ไม่ทรงตั้งชื่อภาพที่ทรงวาด แต่ทรงเรียกตามลักษณะเด่นของภาพนั้นๆ

ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ทรงวาดเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา คือ ภาพวิวอำเภอนาแก นครพนม และภาพแม่น้ำโขง ส่วนภาพทางวกวน, นอร์เวย์ และภาพดอกบัวถวายพระพร นั้น ทรงวาดเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

วิวอำเภอนาแก นครพนม แม่น้ำโขง
ทางวกวน, นอร์เวย์ ดอกบัวถวายพระพร

นอกจากนั้นก็มีภาพฝีพระหัตถ์วาดไว ซึ่งเป็นภาพที่ทรงวาดสดๆ ร้อนๆ โดยทรงใช้สีน้ำเป็นส่วนใหญ่ ภาพที่ทรงวาดมักเป็นภาพที่ทรงถนัด คือ ช้าง ดอกบัว ดอกไม้ ภาพฝีพระหัตถ์วาดไวจะทรงวาดเมื่อเสด็จฯ เยือนสถานที่ หรือเสด็จฯ ไปทรงร่วมงาน และเจ้าภาพได้จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องเขียน แล้วกราบบังคมทูล ให้ทรงวาดภาพพระราชทานเป็นที่ระลึก เช่น เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ เสด็จฯ ไปมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เนื่องในงานวันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คณะกรรมการจัดงานได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงเขียนภาพสีน้ำขณะมีการแสดงบนเวทีและทรงหยุดวาดเมื่อเพลงจบ ทรงวาดอย่างรวดเร็วได้ ๖ ภาพ คือ ช้างสีฟ้า ช้างสีแดง ช้างสีเขียวชูดอกไม้ นักดนตรีตีฆ้องวง บัวขาว และดอกไม้ขอบคุณ ต่อมาในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ เสด็จฯ เปิดงานนิทรรศการภาพเขียนสีน้ำ เส้นสีที่ปลายพู่ ณ อาคารนารายณ์ภัณฑ์ พาวิลเลียน พระองค์ทรงวาดภาพต้นไผ่ด้วยพู่กันจีน และในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๖ ทรงวาดภาพช้างเทศบาล พระราชทานแก่กรุงเทพมหานครในคราวเสด็จฯ ร่วมงานเฉลิมฉลองวันตรุษจีน ที่ถนนเยาวราช เป็นต้น

ในโอกาสเสด็จฯ เยือนศูนย์คอมพิวเตอร์กราฟิก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๗ ทรงใช้โปรแกรมนักวาดภาพช้าง และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ ๑๐ - ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปประทับเฝ้าพระอาการอย่างใกล้ชิด ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงทรงวาดภาพสีน้ำ (กบ) ภาพพู่กันจีน (แมงมุม ช้างพลาย และห่าน) และทรงใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค วาดภาพปีกุน ป่าไผ่ และต้นไม้ ทรงเรียกภาพฝีพระหัตถ์ทั้ง ๗ ภาพ ว่า ภาพชุดศิริราช

กบ แมงมุม ช้างพลาย ห่าน ปีกุน
ป่าไผ่ ต้นไม้

เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรวิจัยผลิตสีคุณภาพราคาประหยัด และปลอดมลพิษได้สัมฤทธิผล จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายสีน้ำ สีอะครีลิก และสีน้ำมัน ทรงทดลองใช้สีทั้งสามชนิดครั้งแรก เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๕ ทรงวาดภาพ ๔ ภาพ คือ ภาพช้าง ภาพสุนัข ชื่อ โป๊ยเซียน ภาพรวงข้าวและภาพทิวทัศน์ ต่อมาในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ทรงทดลองใช้สีทั้งสามชนิด วาดภาพต้นไม้กระถาง ภาพเด็กนั่งอ่านหนังสืออยู่ท่ามกลางหนังสือ ภาพที่ทรงทดลองสีน้ำต่างๆ เกือบทุกสี พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อผลิตภัณฑ์สีว่า สีศิลปากรประดิษฐ์และสีวิจิตรรงค์

นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงสนพระทัยศิลปะเครื่องปั้นดินเผาด้วย ชุดแรกๆ ที่ทรงคือ การปั้นตุ๊กตารูปทรงต่างๆ ที่แม่ริมเซรามิค จังหวัดเชียงใหม่ ชุดต่อๆ มา ทรงใช้ฝีแปรงระบายสี เคลือบลงบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ที่เป็นบิสกิต และใน พ.ศ. ๒๕๔๑ ทรงงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผา ด้วยเทคนิคการเขียนสีใต้เคลือบ ลงบนดินเผารูปทรงหนังสือ ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ทรงวาดภาพบนเครื่องปั้นดินเผา ด้วยเทคนิค Sgraffito ซึ่งเป็นเทคนิคการตกแต่งผิวภาชนะเมื่อต้องการให้เกิดสีหรือน้ำหนักของสีแตกต่าง และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ทรงวาดระบายสีใต้เคลือบลงบนภาชนะรูปชาม ทรงวาดรูปกาบินอยู่เหนือสนามหญ้า ทรงตั้งชื่อผลงานนี้ว่า อีกาสีแดงบนสนามหญ้าสีเขียว

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถด้านศิลปะ และทรงสร้างสรรค์ ผลงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ไว้มากมาย ดังที่มีการรวบรวมไว้ในหนังสือ ทอสีเทียบฝัน และ ศิลปกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สภามหาวิทยาลัยศิลปากร ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถ ด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปไทย (ปีการศึกษา ๒๕๓๑) ปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเครื่องเคลือบดินเผา (ปีการศึกษา ๒๕๓๓) และปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตรกรรม (ปีการศึกษา ๒๕๓๘) ตามลำดับ