พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมี แวดวงชีวิต อยู่ในวงการพัฒนาสังคมและวงการวิชาการตลอดมา ดังที่ได้ทรงเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์ "ทัศนะจากอินเดีย" เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ ความตอนหนึ่งว่า

"…แวดวงชีวิตของฉันแต่ไหนแต่ไรมามีอยู่สองประการคือ วงการวิชาการ แวดวงของครูบาอาจารย์ ผู้รู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งในสายศิลปวัฒนธรรมและเทคโนโลยี กับอีกวงการคือ เรื่องของการพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้า งานที่เห็นพ่อแม่ทำมาตลอดตั้งแต่รู้ความคือ การทำให้แผ่นดินและทุกคนในแผ่นดินมีความเจริญรุ่งเรือง เน้นหนักในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่มีความทุกข์ยาก เราคลุกคลีอยู่กับคนที่ลำบากยากแค้น หาทางบรรเทาความเดือดร้อนของคน …."

งานวิชาการ และงานพัฒนา จึงเป็นพระราชกรณียกิจหลักที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานด้านการพัฒนา ทรงเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องที่ทุรกันดารห่างไกลการคมนาคม ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก มีโอกาสได้รับบริการของรัฐน้อย และต้องประสบภัยอันตรายจากโจรผู้ร้ายและการสู้รบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีหน้าที่ในการสัมภาษณ์ประชาชนเพื่อพระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น การประกอบอาชีพให้เกิดรายได้ การรักษาพยาบาล การศึกษา การแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ สำหรับแนวทางที่มีพระราชวินิจฉัยเพื่อช่วยเหลือ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทความเรื่อง "โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน" พระราชทานเพื่อลงพิมพ์ในหนังสือ "๔๐ ปี โรงเรียน ตชด." เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๙ ความตอนหนึ่งว่า

"…เราใช้เกณฑ์ว่า สิ่งใดที่เราพอจะช่วยเหลือเขาได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนกับคนอื่นเราก็ช่วย รายที่ต้องช่วยก่อน คือรายที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะมองเห็นได้พอสมควร ถ้าพอมีประสบการณ์ก็จะทราบว่าคนไหนเจ็บป่วย เรื่องนี้เสแสร้งได้ยาก การที่ได้รู้ได้เห็นอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆให้ได้…"

จากการที่ได้ทรงเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในสภาพภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ได้ทรงพบปะบุคคลหลายฝ่าย ได้ทรงเรียนรู้วิธีการทำงานในพื้นที่ วิธีการวินิจฉัยปัญหาและแก้ไขปัญหาตามสภาพแวดล้อมจริง จึงได้ทรงนำความรู้และประสบการณ์นานาที่ทรงได้รับเหล่านั้น มาจัดทำโครงการต่าง ๆ ตลอดจนพระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยงานหรือคณะบุคคลไปจัดทำ โครงการตามพระราชดำริ ฯ จำนวนมาก ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต โภชนาการ การศึกษา การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ


แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนา



นิยามของ "การพัฒนา"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงปฏิบัติมาก่อน การพัฒนา หมายถึง การทำให้ดีขึ้น ทำให้เจริญขึ้นให้ก้าวหน้าขึ้น รวมทั้งการยกฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น ดังที่ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๘ ความตอนหนึ่งว่า

"...เหตุที่ชอบการพัฒนาช่วยเหลือประชาชนนั้น เห็นจะเป็นเพราะความเคยชิน ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ก็เห็นทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงคิดหาวิธีต่าง ๆ ที่จะยกฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น ได้ตามเสด็จเห็นความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องเพื่อนร่วมชาติก็คิดว่าช่วยอะไรควรช่วย ไม่ควรนิ่งดูดาย เมื่อโตขึ้นพอมีแรงทำอะไรได้ก็ทำไปอย่างอัตโนมัติ โดยทำตามพระราชกระแส หรือทำตามแนวพระราชดำริ การช่วยเหลือประชาชนเป็นหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องทำประจำอยู่แล้ว..."

ความหมายของข้อความ การยกฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น หมายถึง จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม เน้นที่ "ความเป็นอยู่ของคนไทย" คือสภาพทั้งหลายทั้งปวงที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ทั้งสภาพความเป็นอยู่ทางสังคม และเศรษฐกิจ การดำเนินงานพัฒนาส่วนใหญ่จึงมุ่งไปสู่ประชาชนในชนบทที่มีปัญหาความขาดแคลน ทุรกันดาร โดยในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ทรงมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาชนบทไทยว่า

"...คนไทยเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ในชนบท เมื่อมีคนอยู่มากย่อมมีปัญหามากเป็นธรรมดา ปัญหาชนบทเกี่ยวเนื่องด้วยการดำเนินชีวิตของประชาชนและการทำมาหากิน ส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่ในชนบทจะประกอบอาชีพขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ที่ดิน นำ พันธุ์พืช แรงงาน ดินฟ้าอากาศ และตลาด ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งขาดแคลน รายได้ก็จะน้อย ผลิตอาหารได้ไม่พอกิน อันเป็นผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ เช่น สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน ไม่มีโอกาสเข้ารับการศึกษา อันจะทำให้พัฒนาตนเองได้ยาก เมื่อหมดหนทางหากิน ผู้ที่อยู่ในชนบทก็มักจะหาทางเข้าสู่เมือง และต้องผจญปัญหาต่าง ๆ อีก ฉะนั้น การแก้ปัญหาชนบทจึงเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาทั้งชนบทและปัญหาในเมือง..."

เมื่อมองอีกนัยหนึ่ง ก็จะเห็นเป้าหมายของการพัฒนา คือ การพัฒนาคน ให้มีคุณภาพ มีความรู้ มีคุณธรรม เป็นพลเมืองดีของประเทศ ดังที่ได้พระราชทานพระราโชวาทแก่คณะผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ ในพุทธศักราช ๒๕๔๒ และ ๒๕๔๓ ตามลำดับ ซึ่งได้เชิญมาบางส่วน ดังนี้

"...การปฏิบัติงานอย่างที่เราทำกันอยู่ คือเพื่อให้เยาวชนของชาติมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความรู้ความสามารถที่จะรู้ทั้งทางด้านวิชาการ ทั้งการงานอาชีพ เพื่อให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นทรัพยากรหรือเป็นกำลังสำคัญของชาติ..."

"...เราต้องการให้ทุกคนมีความมั่นคง มีความเป็นสุข อยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตที่จะได้รับความรู้แล้วก็ฝึกฝนความสามารถ สามารถที่จะสร้างความก้าวหน้าให้แก่ตัวเองได้ให้เท่าเทียมกันทุกคน อันนี้จะเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งได้..."

แนวคิดของงานพัฒนา

จากพระราชดำรัสและพระราชนิพนธ์ที่ได้พระราชทานในวาระต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินงานกิจกรรมหรือโครงการตามพระราชดำริ ฯ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและแนวคิดที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีต่องานพัฒนา ดังนี้

- งานพัฒนาสังคมในแบบผสมผสานศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทรงเห็นว่านักพัฒนาจึงควรมองและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างรอบด้าน คิดหาวิธีการพัฒนาโดยนำวิทยาการที่เหมาะสมมาปรับใช้ในงานพัฒนา กล่าวโดยสังเขป ด้านวิทยาศาสตร์ เช่น การเกษตร สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมศาสตร์ เช่น การศึกษาพฤติกรรมชุมชน การสหกรณ์ การจัดการชุมชน ด้านมนุษยศาสตร์ เช่น การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาจิตสำนึก คุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น

- "ความสมดุล" ของการพัฒนา ทรงเห็นว่าการพัฒนาควรคำนึงถึงความสมดุลในทุก ๆ มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีสมัยใหม่ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังที่ได้ทรงเล่าพระราชทานไว้ใน "ทัศนะจากอินเดีย" ความตอนหนึ่งว่า

"...โดยทั่ว ๆ ไป ถ้าเราช่วยในด้านการทำมาหากิน ความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัยก็ดีขึ้น เราช่วยควบคู่ไปในเรื่องให้ความรู้ทางด้านสาธารณสุข การให้การศึกษา มีบางครั้งที่เราเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเห็นว่าเป็นความเป็นอยู่ที่ไม่ดี แต่ก็เป็นความเคยชินและวัฒนธรรม ความสุขของเขาเช่นนั้น เช่นบ้านชาวเขาจุดไฟอยู่ในบ้าน ความยากของการพัฒนาคือจุดไหนจะเป็นความพอดีระหว่างการพัฒนากับการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม..."

และได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ความตอนหนึ่งว่า

"...เทคโนโลยีสารสนเทศ หากนำมาใช้ให้ถูกวิธีก็จะสามารถสร้างพลัง ความเข้มแข็ง ให้แก่บุคคล ชุมชน และสังคมได้ เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เข้าถึงแหล่งความรู้ที่มีอยู่มากมายไร้ขอบเขตจำกัด ความรู้เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการพัฒนา ความรู้ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ ช่วยให้คนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตน สังคม และประเทศชาติ...

...อย่างไรก็ตาม การมีเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่อาจเพียงพอที่จะสร้างความเข้มแข็งได้ หากผู้คนหรือสังคมไม่รู้จักวิธีการใช้ ขาดสารสนเทศที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือขาดความพร้อม อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ สังคม ประเพณี และวัฒนธรรม ดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ "ความสมดุล" ของการพัฒนา ที่ควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนในทุกมิติ เพื่อสร้างความพร้อมและลดข้อจำกัด อันจะทำให้ผู้คนหรือสังคมเหล่านั้นได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีเต็มศักยภาพ..."

ปรัชญาของงานพัฒนา

ในปาฐกถาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงบรรยาย ณ มูลนิธิแม็กไซไซ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๔ ได้ทรงเล่าถึงประสบการณ์การทรงงานพัฒนาในประเทศไทย และ "ปรัชญาในการทำงาน" สรุปใจความพอสังเขปได้ดังนี้

- งานพัฒนาเป็นงานที่ต่อสู้กับความขาดแคลน ทุกข์ยาก ความยากจน และความหิวโหย อันเป็นสภาวะทางกายภาพที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน มิใช่ต่อสู้กับความคิดความเชื่ออันเป็นนามธรรม และเป็นงานระยะยาวที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นที่ปรากฏในข้อความที่สลักในเหรียญที่ระลึก "เซเรส" ("CERES") อันเป็นเหรียญที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๑ ว่า "ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง" ("To give without discrimination") โดยทรงหมายความว่า จะต้องเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้คนโดยถ้วนหน้า

- ในการช่วยเหลือประชาชน นักพัฒนาจะต้องมองชีวิตหลายแง่ ได้แก่

  • สุขภาพอนามัย : ด้านอนามัยทั่วไป ด้านโภชนาการ การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
  • การศึกษา : เด็กทุกคนควรมีโอกาสได้เรียนให้สูงที่สุดตามศักยภาพ ดังนั้น เมื่อพบว่าพื้นที่ใดยังมีเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา จะต้องจัดให้มีสถานที่เรียน จัดหาหนังสือ อุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องนุ่งห่ม ทุนการศึกษาทั้งสำหรับเด็กที่มีความสามารถและเด็กทั่วไป
  • อาชีพ : การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การฝึกทักษะวิชาชีพด้านต่าง ๆ และการส่งเสริมอาชีพงานฝีมือและหัตถกรรมท้องถิ่น
  • งานสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน : สร้างความผูกพันกับท้องถิ่นบ้านเกิด ส่งเสริมการรวมกลุ่ม และสร้างจิตสำนึกช่วยเหลือตนเอง

ปรัชญาการทรงงานดังกล่าว สะท้อนให้เห็นได้จากการที่มิได้ทรงจำกัดขอบเขตการพัฒนาอยู่เฉพาะ การพัฒนาชุมชนชนบท ที่มีปัญหาความอดอยากยากจนเป็นที่ประจักษ์ชัด แต่ยังครอบคลุมถึง การพัฒนาสังคมเมือง ที่มีปัญหาซับซ้อน ละเอียดอ่อนแตกต่างกันออกไป อาทิ การพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตสำหรับผู้พิการ ผู้ต้องขังในทัณฑสถาน และสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม การพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในโรงเรียน การพัฒนาห้องสมุดและการศึกษานอกโรงเรียน เป็นต้น

วิธีการทำงาน

นอกจากนี้ ยังทรงมี "วิธีการทำงาน" ที่นักพัฒนาทั่ว ๆ ไปอาจจะขอพระราชทานนำไปใช้เป็นเคล็ดลับในการทำงานได้เป็นอย่างดี

  • รู้วิธีการซักถามและสัมภาษณ์ชาวบ้านเพื่อหาข้อมูล ควรคิดประเด็นที่จะซักถามไว้ล่วงหน้าและจัดลำดับเรื่องที่สำคัญกว่าไว้ลำดับแรก ๆ เนื่องจากอาจมีเวลาจำกัด รู้จักวิธีพูดคุยอย่างเป็นกันเองเพื่อให้ผู้ตอบกล้าพูดกับเราอย่างเปิดเผย
  • ต้องมีความคิดและความสามารถที่จะหาวิธีแก้ปัญหาในท้องถิ่น ซึ่งอาจมีโจทย์และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
  • ต้องสามารถรักษาสุขภาพตนเองให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย สามารถเดินหรือปีนเขาเพื่อสำรวจพื้นที่ ตรวจโครงการต่าง ๆ ได้ อยู่ง่าย กินง่าย ทนเหนื่อย ทนหิวได้
  • รู้จักมีมนุษยสัมพันธ์ รู้จักทั้งคนที่เราต้องช่วยเหลือ และทั้งบุคคลหรือหน่วยงานที่จะร่วมมือกับเราได้
  • รู้จักรวบรวมข้อมูลจากทุกแหล่ง รวมทั้งจดหมายหรือคำร้องทุกข์
  • ร่วมสนุกไปกับวิถีชีวิตของชาวบ้านได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นร้องเพลง เต้นรำ รับประทานอาหารร่วมกัน
  • การจัดตั้งศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชาวบ้าน
  • การอนุรักษ์ระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมทั้งในเมืองและชนบท มลพิษทางนำ มลพิษทางอากาศ สนับสนุนโครงการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น กังหันนำชัยพัฒนา การปลูกป่าทดแทน ป่าชุมชน เป็นต้น

หลักการในการพัฒนา


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีหลักการสำคัญในการทรงงานพัฒนา ดังนี้

การเสริมสร้างขีดความสามารถและการพึ่งตนเอง สำหรับประชาชนในท้องถิ่นชนบทที่ทุรกันดาร มีพระราชดำริว่าการช่วยเหลือประชาชนอย่างยั่งยืน คือการช่วยเหลือแบบให้เขาช่วยตนเองได้ด้วย จึงทรงส่งเสริมให้ประชาชนเป้าหมายเหล่านี้ มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะ ความสามารถของตนให้แข็งแกร่งขึ้น ทั้งเด็กนักเรียน และราษฎรทั่วไป ทั้งการเรียนในระบบและนอกระบบ ทั้งวิชาการและวิชาชีพ เพื่อให้พวกเขารู้จักการพึ่งตนเอง และพัฒนาตนเองได้ โดยพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด

การประสานความร่วมมือ ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ ทรงเน้นการร่วมมือประสานงานกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ ด้วยทรงเห็นว่าแต่ละภาคส่วนจะมีความชำนาญในแต่ละด้าน หากสามารถนำจุดเด่นของแต่ละภาคส่วนมารวมกัน ก็จะทำให้งานพัฒนาก้าวหน้า สำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายได้

การมีส่วนร่วมของประชาชน ทรงเห็นว่างานพัฒนาที่มุ่งหวังผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เท่านั้น แต่ประชาชนผู้ได้รับผลประโยชน์ในพื้นที่เองควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตนเอง เป็นการปฏิบัติงานร่วมกัน มีการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้เกิดความคิดและความรู้สึกรับผิดชอบต่อปัญหาของชุมชน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปณิธานมุ่งมั่นในการทรงงานพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้ดีขึ้น มีความสนพระทัยในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในงานพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และใฝ่พระทัยศึกษาวิชาการสาขาใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการทรงงาน ด้วยทรงเห็นว่า งานพัฒนาเป็นภารกิจที่ไม่หยุดนิ่ง มีโจทย์ปัญหาใหม่ ๆ มาท้าทายนักพัฒนา เนื่องจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้นักพัฒนาจะต้องรู้จักค้นคว้าหาความรู้ และพัฒนาตนเองอยู่เสมอเช่นเดียวกัน และต้องพิจารณาทบทวนการทำงานเพื่อหาแนวทาง เทคนิควิธีใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ปรับปรุงวิธีการดำเนินงานพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น