พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศ


photo

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรกเมื่อมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา ในการโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ เยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปอีก 13 ประเทศ อย่างเป็นทางการ รวมเวลาประมาณ 7 เดือนเศษ (14 มิถุนายน พ.ศ. 2503 - 18 มกราคม พ.ศ. 2504) และเมื่อมีพระชนมายุ 11 พรรษา ได้ตามเสด็จต่างประเทศอีกครั้ง ในการเสด็จ ฯ เยือนสหราชอาณาจักร เป็นการส่วนพระองค์ (7 กรกฎาคม - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2509)

เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชันษาขึ้นและทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้ว ทรงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสด็จ ฯ เยือนรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อทอดพระเนตรศูนย์ศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองและโรงงานผ้าบาติก (28 สิงหาคม พ.ศ. 2516) และในปีเดียวกัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปทรงร่วมพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟ ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน (23 - 30 กันยายน พ.ศ. 2516) ในโอกาสนี้ ได้เสด็จ ฯ เยือนกรุงบรัสเซลส์และกรุงลอนดอนด้วย

photo

การเสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากจะเป็นการทรงงานเพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีและความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้ทอดพระเนตรกิจการด้านต่าง ๆ ชีวิตความเป็นอยู่ สังคม วัฒนธรรม ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีในแต่ละประเทศ ได้ทรงพบปะบุคคลสำคัญ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำประเทศ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาวิชา และนำความรู้จากประสบการณ์เหล่านั้นมาปรับใช้ในการทรงงานในประเทศไทยต่อไป ทรงเห็นว่าการทัศนศึกษาทั้งในประเทศและนอกประเทศ เป็นโอกาสที่จะได้ศึกษาความเป็นไปของธรรมชาติและสังคม ได้เรียนรู้ที่จะใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติ การที่ได้ไปที่อื่นนอกจากบ้านเกิดเมืองนอนมีข้อดี คือ ได้เห็นว่าคนอื่นเขาทำอย่างไรกับชาติของเขา ได้โอกาสทราบทัศนคติ และค่านิยมในสังคมปัจจุบันของประเทศนั้น ๆ และอาจพิจารณานำส่วนที่ดีและเหมาะสมซึ่งอาจจะพอเข้ากับพื้นฐานของเรา และเป็นสิ่งที่เรายังนึกไม่ถึง มากลั่นกรองและมาปรับใช้ในประเทศของเราต่อไป

photo

การเสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศในแต่ละครั้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเลือกระยะเวลาที่ทรงว่างจากพระราชภารกิจภายในประเทศ และจะเตรียมพระองค์ล่วงหน้าก่อนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศ และสถานที่ต่าง ๆ ที่จะเสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตร ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม บุคคลที่ต้องทรงพบ ความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดทั้งความรู้เกี่ยวกับสถานที่ และสิ่งที่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร ทั้งหมดนี้สถานเอกอัครราชทูตไทยในแต่ละประเทศ จะจัดเตรียมข้อมูล เอกสาร หนังสือ และสื่ออื่น ๆ ที่จะสามารถจัดถวายได้ ส่งเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวายก่อนเป็นการล่วงหน้า สำนักราชเลขาธิการจะจัดทำเอกสารสังเขปประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศนั้น ๆ นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อทรงศึกษาเป็นเบื้องต้นด้วย

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สามารถจำแนกออกได้เป็นหลายลักษณะ ดังนี้

1. เสด็จ ฯ แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปทรงร่วมงานพระราชพิธีและงานพิธีในต่างประเทศหลายครั้ง

    • - ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2516 ขณะมีพระชนมายุ 18 พรรษา เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปทรงร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟ ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน
    • - พุทธศักราช 2523 เสด็จ ฯ แทนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ไปทรงร่วมงานพระราชพิธีสถาปนาเจ้าฟ้าหญิงเบียทริกซ์ขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
    • - พุทธศักราช 2524 เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปทรงร่วมงานพระราชพิธีอภิเษกสมรสเจ้าชายแห่งเวลส์ กับเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
    • - พุทธศักราช 2536 เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปทรงร่วมงานพิธีศพเคานต์แห่งบาร์เซโลนา พระบิดาสมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอสแห่งสเปน และโดยเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงร่วมพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียม
    • - พุทธศักราช 2543 เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปทรงร่วมในพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโก ณ ประเทศญี่ปุ่น
    • - พุทธศักราช 2544 เสด็จ ฯ แทนพระองค์ไปทรงวางศิลาฤกษ์มหาเจดีย์ ณ วัดกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย และเสด็จ ฯ แทนพระองค์ ไปทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัล Franklin Delano Roosevelt International Disability Award ประจำปี 2544 ณ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
    • - พุทธศักราช 2547 เสด็จ ฯ แทนพระองค์ ไปทรงร่วมในพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระชนนีจูเลียน่าแห่งเนเธอร์แลนด์

2. เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมการประชุมหรือการสัมมนา เช่น พุทธศักราช 2526 เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมการประชุมผู้นำสภากาชาด สภาเสี้ยววงเดือนแดง กลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 5 ที่ประเทศมาเลเซีย ในฐานะอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทยและหัวหน้าคณะผู้นำสภากาชาดไทย

    • -พุทธศักราช 2531 เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกหนังสือสำหรับเยาวชนระหว่างชาติ และทรงเป็นกรรมการตัดสินหนังสือดีเด่นสำหรับเยาวชนทั่วโลก ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ International Board on Books for Young People (IBBY) ณ เมืองโบโลญญา สาธารณรัฐอิตาลี
    • -พุทธศักราช 2545 เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมการสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศว่าด้วยการให้การศึกษาหลังประถมศึกษาแก่ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 1 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

3. เสด็จ ฯ ไปทรงรับรางวัลเกียรติยศ หรือตำแหน่งเกียรติยศ

photo
    • -พุทธศักราช 2534 เสด็จ ฯ ไปทรงรับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน จากมูลนิธิรามอน แมกไซไซ ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
    • -พุทธศักราช 2547 เสด็จ ฯ ไปทรงรับตำแหน่งทูตพิเศษของโครงการอาหารโลกแห่งองค์การสหประชาชาติ ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในโอกาสนี้ ได้ทรงกล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการอาหารโลก ครั้งที่ 3 ด้วย
    • photo
    • -พุทธศักราช 2548 เสด็จ ฯ ไปทรงรับรางวัลอินทิรา คานธี เพื่อสันติภาพ การลดอาวุธและการพัฒนา ประจำปี 2547 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เป็นต้น

4. เสด็จ ฯ ในฐานะพระราชอาคันตุกะหรืออาคันตุกะของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เป็นการเสด็จ ฯ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประมุขของประเทศ หรือผู้นำรัฐบาล เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งในโอกาสดังกล่าว รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศนั้น ๆ จะทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาต่าง ๆ เช่น

    • -พุทธศักราช 2534 เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ โอกาสนี้ ทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Red Flag Order Class I อันเป็นชั้นสูงสุด และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์จากรัฐบาลเกาหลี
    • photo
    • -พุทธศักราช 2530 ทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวรรณคดี จากรัฐบาลอินเดีย พุทธศักราช 2547 ทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Grosse Goldene Ehrenzeichen Am Bande จากรัฐบาลออสเตรีย

5. เสด็จ ฯ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสถาบันราชการ หรือสถาบันเอกชน

    • -พุทธศักราช 2532 เสด็จ ฯ เยือนราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสถาบันไอทีซี (International Institute for Aerospace Survey and Earth Sciences - ITC) และเป็นพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเธอร์แลนด์ด้วย
    • -พุทธศักราช 2532 เสด็จ ฯ เยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์ เพื่อทรงเปิดพิพิธภัณฑ์เมืองนอร์ดแคปป์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสโมสรโรตารี กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความร่วมมือจากสโมสรโรตารีนอร์เวย์ และในคราวเดียวกันทรงได้รับเชิญจากพระเจ้าโอลาฟที่ ๕ แห่งนอร์เวย์ ให้เข้าเฝ้าฯ และรับพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันด้วย
    • -พุทธศักราช 2534 เสด็จ ฯ เยือนเนการาบรูไนดารุสซาลาม ตามคำกราบบังคมทูลเชิญจากราชสมาคมภูมิศาสตร์ของอังกฤษ ร่วมกับโครงการป่าเมืองร้อนแห่งบรูไน (Brunei Rain Forest Project 1991 - 92) เพื่อทอดพระเนตรโครงการอนุรักษ์ป่าเขตร้อนของบรูไน และทรงได้รับเชิญให้เป็นแขกของรัฐบาลในคราวเดียวกัน

6. เสด็จ ฯ ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของประมุขของประเทศ เช่น การเสด็จ ฯ ไปเฝ้า ฯ สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม ตามคำเชิญ หรือตามที่มีพระราชประสงค์จะเสด็จ ฯ ไปเฝ้า ฯ ในโอกาสต่าง ๆ ระหว่างที่เสด็จ ฯ เยือนประเทศอื่นๆ ในยุโรป หรือ การเสด็จ ฯ เยือนราชอาณาจักรกัมพูชาโดยเป็นราชอาคันตุกะของสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุ

7. เสด็จฯ โดยพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ เช่น

    • -พุทธศักราช 2544 เสด็จ ฯ ไปทรงศึกษาภาษาจีน ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
    • -พุทธศักราช 2545 เสด็จ ฯ ไปทรงศึกษาภาษาเยอรมัน ณ สถาบันเกอเธ่ เมืองเกิตติงเงน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศนั้น กำหนดการเสด็จ ฯ ที่ทรงสนพระราชหฤทัย และขาดไม่ได้ คือ การเสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งสถาบันการศึกษาและวิจัยงานด้านต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศเชี่ยวชาญอยู่

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก จากการเสด็จ ฯ เยือนประเทศต่าง ๆ ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน มีพระราชปณิธานที่จะนำความรู้และประสบการณ์มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศและปวงชนชาวไทย นอกเหนือไปจากที่เป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระราชวงศ์และระหว่างประเทศ ในการเสด็จ ฯ เยือนสถานที่ต่างๆ นอกจากจะทรงซักถามจนเข้าพระทัยถ่องแท้แล้ว ยังโปรดการจดบันทึกความรู้ไว้ด้วย ภาพที่ทรงถือสมุดจดบันทึกไว้ในพระหัตถ์อยู่เสมอ นับว่าเป็นภาพที่ชินตาของบุคคลทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ จนทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสว่า “Le Princesse Stagiaire” หรือ “เจ้าฟ้านักดูงาน”